11 วิธีฉลาดๆ เลือก Smart TV ให้ถูกใจ คุ้ม


ไม่ใช่เรื่องยากนักหากจะมองหา Smart TV เครื่องใหม่มาแทนทีวีจอตู้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันที่จะได้ Smart TV ที่ถูกใจและให้ประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไป
เนื่องจากตลาดทีวีในปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบรนด์ หลากรุ่น หลายขนาด ที่สำคัญราคาถูกลง ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของ Smart TV ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาจะมีวิธีหรือปัจจัยอะไรที่จะคอยเป็นตัวช่วยสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ Smart TV วันนี้เรามีคำตอบครับ



1.รู้จักก่อนว่า Smart TV คืออะไร ?

จากเดิมที่หลายบ้านคุ้นเคยกับการชมละคร ดูข่าว ดูรายการต่างๆ เพียงอย่างเดียว ผ่านทีวีจอตู้ขนาดหนาๆ แต่สำหรับ Smart TV

ถูกพัฒนาในหลายๆ ด้าน อาทิ ตัวเครื่องที่บางลง ฟังก์ชันการใช้งานที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม, เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, การเข้าเว็บบราวเซอร์,

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเพิ่มเติมได้เสมือนการใช้สมาร์ทโฟน หรือจะใช้แฟลชไดร์ฟต่อเข้ากับพอร์ตของ Smart TV

เพื่อการฟังเพลง ชมภาพยนตร์ แถมบางรุ่นยังมีความ “ฉลาด” สามารถสั่งงานด้วยเสียง, ควบคุมด้วยท่าทาง หรือจะเป็นการปลดล็อคหน้าจอด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เป็นต้น

2. ความแตกต่างของหน้าจอแต่ละประเภท

– LCD (Liquid Crystal Display) เป็นเทคโนโลยีแรกๆ สำหรับทีวีจอแบน ใช้หลอดไฟ CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) 

ขนาดเท่าหลอดกาแฟ วางเรียงตัวเป็นแนวนอนอยู่ภายใต้หน้าจอเป็นตัวก่อกำเนิดแสง (Backlit) ทำงานร่วมกับ Color Filter 

ทั้ง 3 สี ได้แก่ สีแดง น้ำเงิน และเขียว ก่อนแสดงผลออกมาสีสันต่างๆ ที่เราเห็นบนจอภาพนั่นเอง

– LED (light-emitting diode) เป็นประเภทของทีวียอดนิยมมากที่สุดในตลาด ต่อยอดเทคโนโลยีมาจาก LCD ใช้หลอดไฟ LED ขนาดจิ๋ว 3 สี ได้แก่ สีแดง น้ำเงิน และเขียว

เป็นตัวกำเนิดแสง แต่กลับให้แสงสว่างได้ดีว่า LCD กินไฟน้อยกว่า และตัวเครื่องมีความบางยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ LED TV ยังมีตัวเลือกที่น่าสนใจ แบ่งออกเป็นดังนี้

          – EDGE LED  เป็นประเภทที่มีการจัดวางหลอด LED ไว้ตามขอบทีวีทั้ง 4 ด้าน ทำหน้าที่ยิงแสงเข้ามากลางจอทีวี มีส่วนทำให้ตัวเครื่องมีขนาดบางลง และกินไฟน้อยกว่า LCD TVแต่จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการแสดงสีสันที่จะด้อยกว่าประเภท Full LED

          – Full LED  จะเหนือกว่า EDGE LED ในเรื่องของการแสดงสีสันของภาพคมชัด สีสันสดใส Contrast สูง มีการจัดวางหลอด LED เต็มแผงหน้าจอ ส่งผลให้ตัวเครื่องมีความหนาขึ้นเล็กน้อย เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยี Local dimming ที่สามารถกำหนดการเปิดและปิดไฟเฉพาะจุดอัตโนมัติ ส่งต่อการแสดงภาพที่มีความสมจริง

          – RGB LED เรียกได้ว่าเป็นตัวท็อปของ LED  เนื่องจากใช้หลอด LED 3 สีคือ RGB (แดง, เขียว, น้ำเงิน) เป็นตัวกำเนิดแสงมาจับเป็นกลุ่มเรียงเต็มแผงหน้าจอ พร้อมใช้เทคโนโลยี Local dimming แบบเดียวกับ Full LED ช่วยให้การแสดงผลภาพและสีสันมีความถูกต้อง ชัดเจน มีมิติมากกว่า แต่ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้นกว่าทั้งสองประเภทที่กล่าวมา

– Plasma TV อีกประเภทของจอทีวี มีเม็ดพิกเซลที่สามารถให้กำเนิดแสงได้เองด้วยแรงดันไฟฟ้า แสดงภาพเคลื่อนไหวได้ดี ให้สีดำที่ดำสนิท สีสันมีความเป็นธรรมชาติ มีมิติและมุมมองของการแสดงภาพที่กว้างกว่า LCD TV แต่กระจกของ Plasma TV จะสะท้อนแสงเมื่อตั้งอยู่ในห้องที่มีแสงจ้ามากๆ ทำให้ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอลดคุณภาพลงไปพอสมควร รวมถึงมีอัตราการกินไฟมากอีกด้วย

– OLED TV (Organic Light Emitting Diodes)

เป็นประเภทของทีวีสมัยใหม่ ที่เสมือนเป็นการนำจุดแข็งของทีวีแต่ละประเภทมารวมไว้ในที่เดียว เม็ดพิกเซลสามารถให้กำเนิดแสงได้เองคล้ายกับ Plasma TV ไม่ต้องพึ่งหลอดไฟเหมือน LCD หรือ LED จุดเด่นของจอ OLED

คือความบางและความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาหน้าจอให้มีความโค้งได้ กินไฟน้อย แสดงสีสันของภาพได้สม่ำเสมอไม่ว่าจะมองจากองศาใดก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยย่อมตามมาด้วยราคาที่แพงขึ้น

ซึ่งการรู้จักประเภทของจอภาพในเบื้องต้นนี้ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ Smart TV ทั้งในเรื่องการใช้พลังงาน ความละเอียด สีสันของภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ “ราคา”
3. ระยะห่าง และขนาดทีวี เกี่ยวพันกันอย่างไร?


หลายคนอาจไม่เคยวางแผนมาก่อนว่าจะเลือกตำแหน่งวางทีวีเครื่องใหม่ในระยะห่างเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งบางคนอาจเข้าใจผิดอีกว่าระยะห่างไม่สำคัญ แค่จอใหญ่เท่าไหร่ยิ่งทำให้เห็นภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น

แต่แท้จริงขนาดหากตั้งในระยะห่างที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เราได้เห็นภาพที่คมชัด สีสันที่สร้างความประทับใจ และยังเปรียบได้กับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงามที่ประดับอยู่ในบ้านของคุณอีกด้วย

ดังนั้นขนาดของห้องที่จะนำ Smart TV ไปจัดวางก็เป็นอีกหนึ่งข้อควรพิจารณาประกอบการเลือกซื้อด้วยเช่นกัน

– ทีวีขนาด 56 นิ้วขึ้นไป ระยะห่างควรอยู่ที่ 3 เมตรขึ้นไป

– ทีวีขนาด 46-55 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 2.5 ถึง 3 เมตร

– ทีวีขนาด 40-45 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 2 ถึง 2.5 เมตร

– ทีวีขนาด 32-39 นิ้ว ระยะห่างควรอยู่ที่ 1.5 ถึง 2 เมตร

– ทีวีขนาดต่ำกว่า 32 นิ้ว ลงมา ระยะห่างควรอยู่ที่ 1.5 เมตร หรือน้อยกว่านั้น

4. ความละเอียดของภาพ (Resolution)


เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าในตลาดบ้านเราความละเอียดเริ่มต้นของทีวีจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

– HD (1366 x 768 Pixel) เป็นมาตรฐานความละเอียดที่แพร่หลายในตลาดปัจจุบัน รวมถึงรายการหรือละครทางทีวีหลายช่องในระบบทีวีดิจิตอล ก็มีการแพร่ภาพในระบบ HD แล้วด้วย สนับสนุนรับชมภาพที่มีความคมชัดและลงตัว นอกจากนี้ราคาทีวียังไม่แพงอีกด้วย

– Full HD (1920 x 1080 Pixel) อีกหนึ่งความละเอียดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ช่วยในการดูหนังแบบ Blu-ray, คอนเทนต์หรือรายการทีวีแบบ Full HD ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแน่นอนเป็นความละเอียดที่สอดคล้องกับการรับชมรายการในระบบทีวิดิจิตอล

– UHD (Ultra High Definition หรือ 4K) มีความละเอียดอยู่ที่ 3840 x 2160 Pixel สูงกว่า Full HD ถึง 4 เท่า ซึ่งประโยชน์ของการแสดงภาพในความละเอียดระดับ UHD จะช่วยให้เราได้ชมภาพที่มีความคมชัด เสมือนจริง แถม UHD TV บางรุ่นยังมีฟังก์ชั่น Upscale ภาพ ในระดับ Full HD ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง UHD ได้ แต่ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ หรือรายการทีวีที่มีการถ่ายทำแบบ UHD ในประเทศไทยยังแทบไม่มีให้เห็น และราคาทีวียังค่อนข้างสูง

5. ความแตกต่างของระบบปฏิบัติการ

การเปลี่ยนแปลงความเป็นทีวีแบบเดิมๆ สู่ Smart TV ยังมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ (OS) ที่ยกระดับการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการโหลดแอพพลิเคชัน, การเชื่องโยงกับบริการออนไลน์ต่างๆ,

เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และอื่นๆ  ซึ่งนับว่าคุณสมบัติในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เว้นแต่ยังไม่สามารถโทรเข้าโทรออกได้เท่านั้น

ด้วยความทันสมัยที่เกิดขึ้นกับ Smart TV ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ผลิตต่างมีความต้องการให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวก มีความง่ายต่อการใช้งาน และได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

ซึ่งระบบปฏิบัติการหรือ OS ที่ถูกนำมาใช้กับ Smart TV หลายแบรนด์ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็นดังนี้

– Android TV


เป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนาเพื่อการใช้งานร่วมกับ Smart TV และมีความใกล้เคียงกับระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

รองรับการใช้งานแอพพลิเคชันได้เช่นเดียวกัน พร้อมคุณสมบัติของการขยายความบันเทิงอันหลากหลายบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตไปสู่หน้าจอทีวีขนาดใหญ่ได้

นอกจากนี้ Android TV บางรุ่น อาทิ BRAVIA Android TV มีลูกเล่นที่เรียกว่า Google Cast ในตัว ที่สามารถส่งคอนเทนต์ต่างๆ เช่น วีดีโอจาก YouTube

จากสมาร์ทโฟนให้ไปแสดงบนหน้าจอได้ พร้อมกันนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเลือกและดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆที่คุ้นเคยบนสมาร์ทโฟน ให้มาปรากฎบนหน้าจอทีวีด้วย Google Play

รวมทั้งใช้ Voice Search สามารถสั่งงานด้วยเสียง เพื่อค้นหารายการ เนื้อหาต่าง ๆ และควบคุมโทรทัศน์ด้วยเสียงพูดผ่านไมโครโฟนบนรีโมทได้

– Web OS



Web OS เคยเป็นระบบปฏิบัติการที่เคยอยู่ในเครื่อง Palm ยุค 90 ก่อนที่ LG จะนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อการงานร่วมกับ Smart TV ของ LG โดยเฉพาะ ภายใต้หลักการของการเลือกเนื้อหา, การเปลี่ยนเเปลงเนื้อหา,

การควบคุมอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ และ User Interface ที่ให้ความง่ายต่อการใช้งาน และมีความสวยงาม มีเมนูต่างๆ ในรูปแบบของการ์ด แสดงตัวอย่างเนื้อหาก่อนเข้าชมได้ รองรับการทำงานแบบ Multitasking

สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ พร้อมทั้งดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเพิ่มเติมเพื่อใช้งานบน Smart TVได้จาก LG  Store

– Tizen



Samsung ประกาศชัดเจนว่า Smart TV ทุกรุ่นของปี 2015 จะใช้ “Tizen” ระบบปฏิบัติการสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกนำมาปรับแต่ง และพัฒนาต่อยอดจากระบบปฏิบัติการ Meego

นับเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของทีวี Samsung ที่ต้องการให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ พร้อมคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่อและแชร์คอนเทนต์ระหว่างอุปกรณ์พกพาและ Smart TV

ได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วภายในคลิกเดียว พร้อมนำเสนอความง่ายที่จะทำให้การเข้าถึงเมนูต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวก อีกทั้งยังต่อยอด Smart Hub ฟีเจอร์ที่ช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งาน ทั้งการค้นหาคอนเทนต์ใหม่ๆ รวมถึงแอพพลิเคชันต่างๆ ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

– Firefox



สำหรับ Firefox น่าจะเป็นที่รู้จักดีสำหรับท่องเว็บ ในฐานะบราวเซอร์ที่สามารถเพิ่มลูกเล่นหรือปรับแต่งธีมต่างๆ ได้ตามใจ ซึ่งปัจจุบัน Firefox ได้เริ่มพัฒนาต่อยอดได้รูปแบบระบบปฏิบัติการ

ที่สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟน หรือแม้กับ Smart TV ภายใต้พื้นฐานการออกแบบด้วย HTML5 โดย Panasonic เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ให้การสนับสนุน Firefox OS เพื่อนำมาใช้กับ Smart TV บ้างแล้ว

และในปัจจุบันส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface) ของ Firefox OS บน Smart TVได้ก้าวมาถึงเวอร์ชัน My Home Screen 2.0 ที่ให้ความสะดวกในการเรียกใช้งาน เช่น ฟีเจอร์ Voice Assistant Pro

การสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งระบบจะจดจำข้อมูลการใช้งานของแต่ละยูสเซอร์ไว้ เพื่อแสดงข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของยูสเซอร์รายนั้น หรือจะเป็นฟีเจอร์การเรียกใช้งานเมนูอื่นๆ

ได้ในเวลาเดียวกัน แม้ในขณะนั้นจะเปิดชมรายการหรือภาพยนตร์ไว้ก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน สำหรับชมรายการหรือภาพยนตร์ได้จากทุกที่ เป็นต้น

6. พิจารณาจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และรองรับเทคโนโลยี DLNA



อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ ลักษณะของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจาก Smart TV หลายรุ่นมีความแตกต่างกัน บางรุ่นอาจใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสาย

LAN, บางรุ่นใช้ Wi-Fi Adapter USB  หรือเชื่อมต่อ Wi-Fi แบบ Built-in ซึ่งเป็นประเภทที่มีมากับ Smart TV บางรุ่นเท่านั้น และราคาก็มีความแตกต่างกันไปตามสเปค

ส่วนเทคโนโลยี DLNA (Digital Living Network Alliance) จะมีเฉพาะ Smart TV บางรุ่นเช่นกัน ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้เมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi

กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, กล้องถ่ายภาพ หรือโน้ตบุก ในวงเดียวกันแล้ว จะสามารถแชร์ภาพยนตร์ เกม หรือภาพถ่าย มาแสดงผลทางหน้าจอทีวี

พร้อมการควบคุมผ่านอุปกรณ์เหล่านั้นได้แบบไร้สาย นับเป็นอีกหนึ่งข้อดีของ Smart TV ในปัจจุบัน

7. พอร์ตการเชื่อมต่อ



เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละบ้านที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งใช้พอร์ต HDMI

การเชื่อมต่อเข้ากับหลายอุปกรณ์ร่วมกับทีวี เช่น โฮมเธียเตอร์, เครื่องเล่น DVD หรือบางบ้านใช้ต่อเป็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ฉะนั้นแล้วเพื่อเพิ่มความสะดวกและรองรับต่อการใช้งานในปัจจุบันหรือในอนาคตที่มีความหลากหลาย การมีพอร์ท HDMI, S-Video, AV, DVI, VGA, Component, Audio, USB

ให้เลือกใช้งานมากพอสมควร จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวกและไม่ต้องถอดสายจากอุปกรณ์หนึ่งไปใช้อีกอุปกรณ์ให้วุ่นวาย

8. ระบบเสียง

หลายบ้านซื้อ Smart TV ไปแล้ว ยังนำไปเชื่อมต่อกับโฮมเธียเตอร์ เพื่อเพิ่มอรรถรสของเสียงให้ดียิ่งขึ้น แต่หากท่านใดที่ไม่ไม่ได้ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องเสียง

ลำโพงที่มากับทีวีจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง โดยอาศัยการพิจารณาจากการเพิ่มระดับความดังของเสียง เสียงที่ดีควรมีความชัดเจน ทั้งเสียงพูด

เสียงเบส หรือ Sound effect ต่างๆ ไม่มีอาการแตกหรือเสียงแหลม สามารถปรับการแสดงเสียงให้เหมาะกับการรับชมในประเภทต่างๆ ตลอดจนปรับระดับเสียงให้สอดคล้องกับบริเวณที่ติดตั้งได้ด้วย

 9. รองรับทีวีดิจิตอล

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า ประเทศไทยเริ่มมีแพร่ภาพทีวีดิจิตอลในระบบ DVB-T2 ที่มีคุณสมบัติในการส่งสัญญาณความละเอียดสูงทั้งภาพและเสียงในแบบ HD หรือ Full HD

รวมถึงเพิ่มช่องทีวีในการรับชมที่มากขึ้น บางบ้านอาจใช้การเลือกซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลเพื่อนำมาต่อพ่วงกับเสาก้างปลาและทีวีเครื่องเดิม แต่สำหรับบางบ้านอาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนทีวีไปใช้เครื่องใหม่ ซึ่ง

Smart TV รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันนอกจากราคาที่ถูกลง ยังมาพร้อมระบบ DVB-T2 สังเกตได้จากสัญลักษณ์ “น้องดูดี” ที่จะติดให้เห็นเด่นชัด ช่วยให้สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ในทันที โดยไม่ต้องอาศัยกล่องติดตั้งเพิ่มแต่อย่างใด

10. บริการหลังการขาย

การจะซื้อ Smart TV ให้คุ้มค่า นอกจากพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและราคาแล้ว บริการหลังการขายของแต่ละแบรนด์นับมีความสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้งการให้คำแนะนำการใช้งานที่ถูกต้องจากช่างหรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ติดต่อให้คำปรึกษา แก้ปัญหาได้ง่ายและรวดเร็ว รวมไปถึงศูนย์บริการหรือศูนย์ซ่อมที่สามารถหาได้ง่าย

11. งบประมาณ

แม้ดีไซน์ของ Smart TV จะโดนใจ มีคุณสมบัติให้ใช้งานที่หลากหลาย แต่หากงบประมาณไม่สอดคล้องกับความชอบ ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้ Smart TV

ตรงตามที่ต้องการ ฉะนั้นแล้วงบประมาณจึงกล่าวได้ว่าควรเป็นสิ่งที่นำมาพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ก่อนเรื่องอื่นๆ ควรกำหนดงบประมาณขั้นต่ำไปจนถึงตัวเลขสูงสุดที่ตัวคุณคิดว่า “พอจ่ายไหว”

และนำไปเปรียบเทียบกับช่วงราคาของ Smart TV ก่อนใช้ข้อควรพิจารณาตามที่กล่าวมาขั้นต้นเป็นเครื่องมือในการประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ Smart TV ที่ดีที่สุดสำหรับบ้านของคุณ